การปฏิบัติดูแลรักษา
การให้น้ำ
คะน้าเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอเพราะต้นคะน้ามีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นการปลูกคะน้าจึงต้องปลูกในแหล่งที่มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูปลูก
หากคะน้าขาดน้ำจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตและคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่เมล็ดเริ่มงอกยิ่งขาดน้ำไม่ได้เลย
วิธีการให้น้ำคะน้าโดยใช้บัวฝอย หรือใช้เครื่องฉีดฝอยฉีดให้ทั่วและชุ่ม
ให้น้ำคะน้าวันละ 2 เวลาคือ เช้าและเย็น
รูปที่ 15
การปลูกคะน้าจะต้องมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ
การใส่ปุ๋ย
เนื่องจากคะน้าเป็นผักกินใบและลำต้นจึงควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง
สัดส่วนของธาตุอาหารในปุ๋ยที่ใช้คือ N:P:K เท่ากับ 2:1:1 เช่น
ปุ๋ยสูตร 12-8-8 หรือ 20-11-11 ในอัตราประมาณ 100 กิโลกรัมต่อไร่
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและปริมาณปุ๋ยคอกที่ใช้ โดยแบ่งใส่ 2
ครั้งๆ ละเท่าๆ กัน คือ ใส่หลังจากการถอนแยกครั้งแรกและหลังจากถอนแยกครั้งที่สอง
อย่างไรก็ตามหากสังเกตเห็นว่าผักที่ปลูกไม่ค่อยเจริญเติบโตเท่าที่ควรอาจจะใส่ปุ๋ยบำรุงเพิ่มเติม
เช่น ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท โดยให้ทางรากหรือละลายน้ำในอัตราประมาณ 3-4
ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นทางใบ
การเก็บเกี่ยว
คะน้าที่ปลูกในประเทศไทยมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ
45-55 วัน หลังจากปลูก ซึ่งเป็นระยะที่คะน้าโตเต็มที่ คะน้าอายุ 45
วันเป็นระยะที่ตลาดมีความต้องการมาก แต่คะน้าที่มีอายุ 50-55
วันเป็นระยะที่เก็บเกี่ยวได้น้ำหนักมากกว่า โดยใช้มีดตัดให้ชิดโคนต้น
การตัดจะตัดไล่เป็นหน้ากระดานไปเลย เมื่อตัดแล้วบางแห่งมัดด้วยเชือกกล้วยมัดละ 5
กิโลกรัม บางแห่งก็บรรจุเข่งโดยไม่ได้มัด ทั้งนี้แล้วแต่ความสะดวกในการขนส่งและของผู้ซื้อ
อย่างไรก็ตามการเก็บเกี่ยวคะน้าให้ได้คุณภาพ ความสด
รสดีและสะอาดนั้นควรปฏิบัติดังนี้
1. เก็บผักในเวลาเช้าดีกว่าเวลาบ่าย
2. ควรใช้มีดเล็กๆ ตัด
อย่าเก็บหรือเด็ดด้วยมือ
3. อย่าปล่อยให้ผักแก่เกินไป
4.
ผักที่แสดงอาการไม่ปกติควรรีบเก็บเสียก่อน
5.
เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วควรรีบนำเข้าร่มในที่อากาศโปร่งและเย็น
6.
ภาชนะที่ใช้บรรจุผักคะน้าควรล้างให้สะอาด
รูปที่ 16
เก็บผักคะน้าที่โตเต็มที่
โรคและแมลง
1. โรคเน่าคอดินของคะน้า
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Pythium sp. หรือ Phytophthora
sp. เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในแปลงต้นกล้าเท่านั้น
เนื่องจากการหว่านเมล็ดที่แน่นทึบ อับลม และต้นเบียดกันมาก ถ้าในแปลงมีเชื้อโรค
ลักษณะอาการ เป็นแผลช้ำที่โคนต้นระดับดิน
เนื้อเยื่อตรงแผลจะเน่าและแห้งไปอย่างรวดเร็ว ถ้าถูกแสงแดดทำให้ต้นกล้าหักพับ
ต้นเหี่ยวแห้งตายในเวลารวดเร็ว บริเวณที่เป็นโรคจะค่อยๆ ขยายกว้างออกไปเป็นวงกลม
ภายในวงกลมที่ขยายออกไปจะไม่มีต้นกล้าเหลืออยู่เลย ส่วนกล้าที่โตแล้วจะค่อยๆ
เหี่ยวตายไป
การป้องกันกำจัด
ไม่หว่านเมล็ดคะน้าให้แน่นเกินไป
ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราละลายน้ำในอัตราความเข้มข้นน้อยๆ
รดลงไปบนผิวดินให้ทั่วสัก 1-2 ครั้ง
ถ้าใช้ยาเทอราคลอซึ่งเป็นยาป้องกันกำจัดเชื้อราในดินโดยตรงจะได้ผลดียิ่งขึ้น
แต่โดยทั่วไปแล้วใช้ยาไซแน็บหรือมาแน็บละลายน้ำรดก็ได้ผลบ้างและควรทำทางระบายน้ำให้ดี
อย่าให้น้ำขังแฉะในแปลงขณะเป็นต้นกล้า
หรือยกแปลงนูนสูงเพื่อให้ระบายน้ำให้เร็วด้วย
รูปที่ 17
โรคเน่าคอดินของคะน้า
2. โรคราน้ำค้างของคะน้า
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Peronospora
parasitica
ลักษณะอาการ ใบจะเป็นจุดละเอียดสีดำอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ
ด้านใต้ใบ ตรงจุดเหล่านี้จะมีราสีขาวอมเทาอ่อนคล้ายผงแป้งขึ้นเป็นกลุ่มๆ
กระจายทั่วไป ใบที่อยู่ตอนล่างๆ
จะมีแผลเกิดก่อนแล้วลุกลามขึ้นไปยังใบที่อยู่สูงกว่า
ใบที่มีเชื้อราขึ้นเป็นกลุ่มกระจายเต็มใบจะมีลักษณะเหลืองและใบจะร่วงหรือแห้ง
ในเวลาที่อากาศไม่ชื้นจะไม่พบผงแป้งและแผลแห้งเป็นสีเทาดำ
โรคนี้ระบาดได้ทั้งแต่ระยะที่เป็นต้นกล้าจนเจริญเติบโตเต็มที่
ซึ่งจะทำความเสียหายมากเพราะทำให้ใบเสียมากและเจริญเติบโตช้า
โรคนี้ไม่ทำให้ต้นคะน้าตาย แต่ทำให้น้ำหนักลดลง เพราะต้องตัดใบที่เป็นโรคทิ้ง
ทำให้ได้น้ำหนักน้อยลง
การป้องกันกำจัด
ให้ฉีดพ่นด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไซแน็บ, มาแน็บ, เบนเลท, ไดโฟลาแทน, เบนโนมิล,
ดาโคนิล, แคปแทน หรือยาชนิดอื่นๆ
ที่มีสารทองแดงเป็นองค์ประกอบ แต่สารประกอบทองแดงไม่ควรใช้ในระยะที่ยังเป็นต้นกล้า
เพราะจะเป็นพิษต่อต้นกล้า
รูปที่ 18
โรคน้ำค้างของคะน้า
3. โรคแผลวงกลมสีน้ำตาลไหม้
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Alternaria sp.
ลักษณะอาการ ใบแก่ที่อยู่ตอนล่างของลำต้นจะเป็นโรคนี้มาก
ใบที่เป็นโรคจะมีแผลวงกลมสีน้ำตาลซ้อนกันหลายชั้น เนื้อเยื่อรอบๆ
แผลเปลี่ยนเป็นสีเหลืองขนาดของแผลมีทั้งใหญ่และเล็ก บนแผลมักจะมีเชื้อราขึ้นบางๆ
มองเห็นเป็นผงสีดำ เนื้อเยื่อบุ๋มลงไปเล็ก
การป้องกันกำจัด
การฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อราอยู่เสมอจะช่วยป้องกันกำจัดเชื้อรานี้และเชื้อราโรคอื่นๆ
ด้วย ยากำจัดเชื้อราเกือบทุกชนิดให้ผลดี ยกเว้นเบนโนมิลหรือเบนเลท
และกำมะถันที่ไม่ให้ผลแต่อย่างใด
รูปที่ 19
โรคแผลวงกลมสีน้ำตาลไหม้
4. หนอนกระทู้ผัก
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Spodoptera litura ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน เมื่อกางปีกกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร
ลำตัวยาว 1 1/2 เซนติเมตร ปีกคู่หน้ามีจุดสีน้ำตาลเข้ม มีลวดลายเต็มปีก
ส่วนปีกคู่หลังสีขาวและบาง ลำตัวมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมอยู่ ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มๆ
ตัวเมียวางไข่ได้ประมาณ 200-300 ฟอง โดยมีขนสีน้ำตาลปกคลุมไข่ไว้ ไข่ใหม่ๆ
จะมีสีขาวนวลและจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและสีดำเมื่อใกล้ฟักออกเป็นตัวหนอน
ไข่มีอายุประมาณ 3-7 วัน ตัวหนอนเมื่อออกจากไข่ใหม่ๆ
จะมีสีเขียวอ่อนหรือสีนวลรวมกันเป็นกลุ่มตรงที่ไข่ฟักออกนั้น
หนอนส่วนมากจะออกหากินในเวลากลางคืน ระยะตัวหนอนประมาณ 15-20 วัน
จากนั้นจะเข้าดักแด้ตามใต้ผิวดิน ดักแด้มีสีน้ำตาลดำ ยาวประมาณ 1.50-1.80
เซนติเมตร ระยะดักแด้ประมาณ 7-10 วัน จึงเจริญเป็นตัวเต็มวัย
ลักษณะการทำลาย โดยหนอนจะกัดกินใบและก้านใบของคะน้า มักจะเข้าทำลายเป็นหย่อมๆ
ตามจุดที่ผีเสื้อวางไข่ หนอนชนิดนี้สังเกตได้ง่ายคือ ลำต้นอ้วนป้อม ผิวหนังเรียบ
คล้ายหนอนกระทู้หอม มีสีสันต่างๆ กัน มีแถบสีขาวข้างลำตัวแต่ไม่ค่อยชัดนัก
เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 3-4 เซนติเมตรเคลื่อนไหวช้า
การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูสวนผักบ่อยๆ
เมื่อพบหนอนกระทู้ฟักให้ทำลายเสีย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการระบาดลุกลามต่อไป
หรือฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น เมโธมิล ให้อัตรา 10-12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
หรืออาจใช้เมวินฟอส 20-30 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร
รูปที่ 20
โรคหนอนกระทู้ผัก
5. หนอนคืบกะหล่ำ
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichoplusia ni ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อขนาดกลาง กางปีกเต็มที่ยาว 3 เซนติเมตร สีเทาดำ
กลางปีกคู่หน้ามีจุดสีขาวข้างละ 1 จุด แม่ผีเสื้อจะวางไข่สีขาวนวลใต้ใบเม็ดกลมเล็กๆ
ไข่จะถูกวางเดี่ยวๆ ทั่วไป ไข่มีอายุ 3 วันจึงฟักออกเป็นตัวหนอน
หนอนที่มีขนาดเล็กจะแทะผิวใบด้านล่าง หนอนในระยะนี้มีสีใส ต่อมามีสีเข้มขึ้น
เมื่อโตเต็มที่มีสีซีดลง มีสีขาวพาดยาว หนอนเมื่อโตเต็มที่ยาว 4 เซนติเมตร
อายุหนอนประมาณ 2 สัปดาห์ จึงเข้าดักแด้ ดักแด้จะอยู่ใต้ใบคลุมด้วยใยบางๆ สีขาว
ดักแด้ในระยะแรกจะมีสีเขียวอ่อน ต่อมามีบางส่วนเป็นสีน้ำตาล มีขนาดยาวเกือบ 2
เซนติเมตร อายุดักแด้ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงเข้าระยะตัวเต็มวัย
ซึ่งตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์
ลักษณะการทำลาย หนอนคืบกะหล่ำเป็นหนอนที่กินจุ
เข้าทำลายคะน้าในระยะที่เป็นตัวหนอน
โดยจะกัดกินเนื้อใบจนขาดและมักจะเหลือเส้นใบไว้หนอนชนิดนี้เมื่อเกิดระบาดแล้วจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมาก
การป้องกันกำจัด ตรวจดูไข่หรือตัวหนอนในระยะเล็กๆ
หากพบให้ใช้สารกำจัดแมลงฉีดพ่น เช่น ฟอสดริล, แลนเนท เป็นต้น
หากใช้ในขณะที่หนอนยังมีขนาดเล็กจะได้ผลดี
หากการระบาดมีอยู่ตลอดเวลาควรพ่นสารกำจัดแมลงดังกล่าว 5-7 วันต่อครั้ง
รูปที่ 21 หนอนคืบกะหล่ำ